โรคที่เกิดในใบของกุหลาบ

 
  • ใบถูกกัดกินจนพรุน หรือเว้าแหว่งทั้งต้น ทำให้ต้นโทรมหรือตาย
  • ใบกุหลาบบิดเบี้ยวเป็นคลื่น มีรอยสีน้ำตาล ดำ และแห้งตาย
  • ใบอ่อน ยอดอ่อน เป็นคลื่น พบมดมากินน้ำหวานที่เพลี้ยคายออกมา และเกิดราดำ
  • ใบกุหลาบถูกกัดแทะผิวใบทำให้ใบเป็นรู เว้าแหว่ง
  • ใบอ่อนมีผงสีขาวคล้ายผงแป้งเกาะอยู่บนผิวใบทั้งด้านบนและด้านหลังใบ แต่ส่วนมากจะเป็นที่หลังใบ ทำให้พอง บิดงอ
  • ใบเป็นจุดกลมสีดำขนาดเล็กเกิดกับใบล่าง ๆ ของกุหลาบ แล้วจึงลุกลามขึ้นไปที่ยอด
 
 

 

เกิดจากตัวอันตรายเหล่านี้

ด้วงกุหลาบ ( Rose beetle)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Adoretus compressus

ลักษณะการทำลาย

ด้วงกุหลาบจะกัดกินใบกุหลาบในเวลากลางคืน ถ้าต้นกุหลาบยังเล็กอยู่หรือปลูกไม่กี่ต้น ก็จะถูกกัดกินจนใบพรุน หรือเว้าแหว่ง หมดทั้งต้น ทำให้ต้นโทรมและตายในที่สุด

ใบกุหลาบถูกด้วงกุหลาบกัดกิน

รูปร่างลักษณะ

เป็นด้วงปีกแข็งมีทั้งชนิดสีน้ำตาล ( Garden beetle) และสีดำ (Blister beetle) แก่ส่วนมากจะพบชนิดสีน้ำตาล โดยทั่วไปมีขนาด ลำตัวประมาณ 1/2 - 1 ชม. ขยายพันธุ์โดยการวางไข่ตามสนามหญ้า ตัวอ่อนจะกินรากหญ้าเป็นอาหาร จนกระทั่งโตเต็มวัย จึงจะออก มากัดกินใบกุหลาบและพืชอื่น ๆ เป็นอาหาร

การแพร่ระบาด

จะพบแพร่ระบาดตามแหล่งปลูกกุหลาบทั่วไปตลอดปี จะออกหากินตอนกลางคืน ช่วงเวลา 19.00-21.00 น. โดยขณะอยู่ตามใต้ ใบกุหลาบ

การป้องกันกำจัด

- ถ้าปลูกกุหลาบไม่มาก ให้เก็บมาทำลายช่วงกลางคืนโดยใช้ไฟส่อง

- ทำความสะอาดบริเวณแปลงกุหลาบ ไม่ให้เป็นที่วางไข่ของด้วง

- ใช้กับดักแสงไฟเปิดล่อ ช่วงเวลา 19.00-21.00 น. จับมาทำลาย

- การใช้สารเคมี เช่น สารคาร์บาริล เป็นต้น

 

เพลี้ยไฟ ( Thrips)

ชื่อวิทยาศาสตร์

เพลี้ยไฟกุหลายมี 2 ชนิด Scirtothrips dorsalis Hood Thrips coloratus Schmutz

ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยไฟกุหลาบทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ จะดูดกินน้ำเลี้ยงส่วนออ่อนของพืช เช่น ยอดอ่อน ตาดอก ทำให้ดอกมีสีซีดเป็นทางขาว ๆ หรือม สีน้ำตาล , ดำ และเหี่ยวแห้ง ทำให้ใบหงิกงอเป็นคลื่น มีรอยสีน้ำตาล ดำ และแห้งตาย หรือทำให้ดอกและใบบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ดอกไม่บาน ตามปกติทำให้เสียคุณภาพ ขายไม่ได้ราคา

ลักษณะอาการเพลี้ยไฟทำลายดอก

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

เพลี้ยไฟมีขนาดเล็กมาก รูปร่างเรียวยาว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยที่มีลักษณะคล้ายกันแต่ตัวอ่อนไม่มีปีก ตัวเมียจะวางไข่ในเนื้อเยื่อพืช จะฟักออกเป็นตัวภายใน 2-3 วัน ตัวอ่อนจะมีสีเหลือง หรือสีฟางข้าว แล้วแต่ชนิด จะเริ่มดูดน้ำเลี้ยงส่วนอ่อนของพืช ต่อมา 4-5 วัน จะเข้าดักแด้ ไม่เคลื่อนไหว ไม่กินอาหาร สังเกตได้โดยหนวดจะหดสั้นชี้ตรงไปข้างหน้า ระยะนี้ใช้เวลา 1-2 วัน ก็เจริญเป็นตัวเต็มวัย มีปีก 2 คู่ ตัวเมียวางไข่โดยไม่ต้องผสมพันธุ์กับตัวผู้ ทำให้ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว

การแพร่กระจาย

เพลี้ยไฟมีการระบาดรุนแรงมากในฤดูร้อนช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง เคลื่อนที่โดยลม ส่วนมากเคลื่อนไหวในเวลากลางวัน ช่วงเวลา 08.00-12.00 น.

พืชอาหาร

นอกจากทำลายกุหลาบแล้วไม้ดอกอื่น ๆ ด้วย เช่น กล้วยไม้ เบญจมาศ มะลิ ดาวเรือง แกลดิโอลัส เยอบีร่า ราตรี อัญชัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบในพืชเศรษฐกิจทั้งพืชไร่ , พืชผัก, ในไม้ผล และไม้ประดับ เช่น ไทร หูกวาง หูปลาช่อน ฯลฯ

การป้องกันกำจัด

  • การใช้กับดักกาวเหนียว เพื่อเป็นการพยากรณ์การแพร่ระบาด และลดปริมาณเพลี้ยไฟ
  • การใช้สารเคมีกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล , เอ็นโดซัลแฟน, มาลาไธออน, เมทธิโอคาร์บ, คาร์โบซัลแฟน, อะบาเมคทิน, เบนฟูราคาร์บ, ฟิโพรบิล ฯ

การใช้สารเคมีให้พิจารณาถึงปริมาณเพลี้ยไฟว่ามีความรุนแรงขนาดไหน หลังฉีดพ่นแล้วให้ตรวจสอบดูอีกครั้งว่าจะปริมาณลดลง หรือไม่ ตลอดจนพืชอาศัยบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นแหล่งสะสมด้วย

เพลี้ยอ่อน ( Aphids)

ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยอ่อน ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบ ยอดอ่อนและดอกทำให้หงิกงอเป็นคลื่น หากมีการระบาดมาก ๆ จะทำให้ไม้ดอกเหี่ยวและอ่อนแอ ไม่ออกดอก บริเวณที่มีเพลี้ยอ่อนระบาดมักจะพบเห็นมดอาศัยกินน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนถ่ายออกมาก จะทำให้เกิดราดำ

เพลี้ยอ่อนดูดน้ำเลี้ยงดอกกุหลาบ

รูปร่างลักษณะ

เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงปากดูดที่มีขนาดเล็ก ผนังลำตัวอ่อนนุ่ม ขยายพันธุ์ได้โดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์และออกลูกเป็นตัว มีทั้งชนิดมีปีก และไม่มีปีก ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ต่างกันที่ขนาดและสี เจริญเติบโตลอกคราบ 4-5 ครั้ง ตัวเต็มวัยขนาด โตเต็มที่ประมาณ 1 มิลลิเมตร สีลำตัวมีตั้งแต่สีเขียวอ่อนไปจนถึงสีดำเข้ม ที่ปลายส่วนท้องจะมีท่อเล็ก ๆ ยื่นยาวออกมา 2 ท่อ เพลี้ยอ่อนตัวหนึ่ง ๆ จะให้ลูกได้ประมาณ 27 ตัว ระยะตัวอ่อนประมาณ 5-6 วัน ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 3-14 วัน อายุเฉลี่ย 11 วัน

การแพร่กระจาย

เพลี้ยอ่อนจะพบเห็นอยู่ทั่วไปตลอดปี การกระจายตัวของเพลี้ยอ่อนเป็นแบบรวมกลุ่ม ปกติจะไม่เกิดการระบาด เพราะธรรมชาติคอย ควบคุม เช่น ปริมาณน้ำฝน ศัตรูธรรมชาติ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงหรือในฤดูแล้ง อากาศร้อนจะเกิดการระบาดของเพลี้ยอ่อน

พืชอาหาร

ใบไม้ดอก เช่น ดาวเรือง กุหลาบ เบญจมาศ ดอกรัก ชบา ยี่โถ บานชื่น แม้แต่บัว ฯลฯ ในพืชไร่ชนิดต่าง ๆ ในพืชผัก ฯลฯ

ศัตรูธรรมชาติ

มีทั้งตัวห้ำและตัวเบียนหลายชนิด เช่น แมลงช้างปีกใส , ด้วงเต่าหลายชนิด, แมลงวันกินขยะ

การป้องกันและกำจัด

พยายามสำรวจแปลงปลูกพืช หากพบศัตรูธรรมชาติมีปริมาณมากให้ปล่อยไว้ สำหรับในฤดูแล้ง หากพบมีการระบาดมากให้ใช้สารสกัด จากสะเดา หรือยาสูบฉีดพ่น หากมีการระบาดรุนแรงศัตรูธรรมชาติไม่สามารถควบคุมได้ ใช้สารเคมี oxydemeton-methyl หรือ omethoate หรือ carbosulfan หรือ methamidophos อย่างใดอย่างหนึ่งฉีดพ่นตามอัตราที่ฉลากระบุ หลังจากนั้น 7 วัน ให้สำรวจ แปลงดูหากยังมีการระบาดอยู่ให้ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้ง

 

หนอนกระทู้ผัก ( Commom Cutworm)

ชื่อวิทยาศาสตร์

Spodoptera litera Fabricius

ลักษณะการทำลาย

หนอนกระทู้ผักเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะรวมกลุ่มกัดกินผิวใบพืช เมื่อโตขึ้นจะกระจายตัวออกไป กัดกินใบ กลีบเลี้ยง และดอก เป็นรู เว้าแหว่ง ซึ่งระบาดในพืชหลายชนิด แต่เป็นหนอนที่กำจัดได้โดยง่าย เพราะหนอนอ่อนแอต่อสารเคมีทุกชนิด จึงไม่เป็นปัญหา ในการป้องกันและกำจัด

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ผีเสื้อตัวเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อน 3-4 วัน ฟักออกเป็นตัวหนอนในระยะแรกจะรวมกลุ่มกัดกินผิวใบเสีย ตัวหนอน สังเกตได้ง่ายลำตัวจะอ้วน ผิวเรียบมีลายสีดำ ตัวโตเต็มที่ยาวประมาณ 3-4 เซ็นติเมตร ระยะหนอน 10-14 วัน ระยะดักแด้ 7-10 วัน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อขนาดกางปีกกว้าง 3 ซม. ปีกคู่หน้ามีลวดลายสีน้ำตาลดำ ปีกคู่หลังมีสีขาว

การแพร่กระจาย

จะมีการระบาดในบางครั้งในหลาย ๆ พืช แต่กระจายอยู่ทั่วไปตลอดปีแต่ไม่รุนแรงจะพบมากในฤดูฝน

พืชอาหาร

ใบไม้ดอกพบว่า มีหลายชนิดที่หนอนกระทู้ผักเข้าทำลาย เช่น ดาวเรือง กุหลาบ มะลิ กล้วยไม้ เบญจมาศ พุทธรักษา เยอบีร่า ฯลฯ ในพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ฯ ในพืชผักตระกูลกระหล่ำ พริก มะเขือ ฯลฯ

ศัตรูธรรมชาติ

ในธรรมชาติพบแตนเบียน เข้าทำลายคือ Apanteles risbeci De-Saeger

การป้องกันกำจัด

ให้สุ่มสำรวจแปลงเป็นประจำทุกสัปดาห์ หากพบกลุ่มไข่หรือกลุ่มหนอนวัยอ่อนให้เก็บทำลาย หากพบมีการระบาดกระจายอยู่ทั่วไป ให้ใช้สารสกัดสะเดา หรือเชื้อแบคทีเรีย ( Bt.) อย่างใดอย่างหนึ่งฉีดพ่นตามคำแนะนำที่ฉลาก

 

โรคราแป้ง ( Powdery mildew)

สาเหต

เกิดจากเชื้อรา Sphaerotheca pannosa

ลักษณะอาการ

เป็นโรคที่เกิดกับใบอ่อน ยอดอ่อนของกุหลาบ สังเกตุจากบริเวณเชื้อรามีขุยสีขาว ๆ ชื้นปกคลุม ทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ เนื้อใบที่ถูกทำลายจะพองออก ใบบิดงอ ถ้าถูกทำลายมาก ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงจนกระทั่งสีดำและใบจะร่วง ต้นแคระแกร็น และ ทรุดโทรมในที่สุด

โรคราแป้งของกุหลาบ   โรคราแป้งของกุหลาบ

การแพร่ระบาด

เชื้อราชนิดนี้สามารถระบาดไปยังที่ต่าง ๆ โดยสปอร์ปลิวไปตามลม ติดไปกับแมลงหรือติดไปกับกิ่งพันธุ์

การป้องกันและกำจัด

- ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค เก็บใบที่โคนต้น เผาทำลายทิ้ง

- ในช่วงที่มีการระบาดของโรคงดให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง

- หากมีการระบาดใช้สารเคมีประเภทที่มีกำมะถันหรือทองแดง ฉีดพ่น ช่วงเช้าหรือเย็น สัปดาห์ละครั้ง

- สารเคมีอื่น ๆ เช่น เบนเลท, คาราแทน อัตราตามที่ระบุข้างขวด

 

โรคใบจุดสีดำ (ฺ Black spot)

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อรา Marssonina rosae (Lib) Lind.

ลักษณะอาการ

ใบกุหลาบส่วนล่าง ๆ จะเป็นจุดกลมขนาดเล็ก แล้วลุกลามขึ้นไปส่วนยอด ถ้าอากาศมีความชื้นสูง และผิวใบเปียกชื้นในฤดูฝน จุดกลมจะขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ใบจะมีสีเหลืองและช่วงก่อนกำหนด

การแพร่ระบาด

เกิดการระบาดได้ตลอดปี แต่จะรุนแรงในฤดูฝน เชื้อโรคสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานบนใบกุหลาบที่ตกหล่นอยู่บนแปลง

การป้องกันและกำจัด

- รักษาความชื้นให้ต่ำกว่า 85% การรดน้ำควรให้เปียกเฉพาะดินบริเวณโคนต้น

- เก็บใบที่ล่วงตาม-พื้นดินเผาทิ้ง ทำความสะอาดแปลงปลูก

- ในแหล่งที่มีการระบาดควรตัดแต่งให้ทรงต้นโปร่ง

- การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ได้แก่ แคปแทน, เบลเลท, คูปาริทไดเทนเอ็ม-45 เป็นต้น